บทความวิชาการ
การเหนี่ยวนำภาวะความดันโลหิตสูงจากยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์: กลไกทางเภสัชวิทยา ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และแนวทางการนำไปใช้ทางคลินิก
ชื่อบทความ การเหนี่ยวนำภาวะความดันโลหิตสูงจากยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์: กลไกทางเภสัชวิทยา ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และแนวทางการนำไปใช้ทางคลินิก
ผู้เขียนบทความ ดร.ภก. ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2002-1-000-001-04-2559
ผู้ผลิตบทความ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 04 เม.ย. 2559
วันที่หมดอายุ 03 เม.ย. 2560
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drug; NSAIDs) เป็นยาที่ถูกจ่ายบ่อยทั้งใน โรงพยาบาล และ ร้านยา ยานี้ถูกจัดประเภทเป็นยาอันตรายตามกฎหมาย แต่กลับพบว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายมาก NSAIDs มีประสิทธิภาพดีในการรักษาภาวะปวด ลดไข้ ลดอาการอักเสบในระบบกล้ามเนื้อ และข้อ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาค่อนข้างมาก อาการอย่างหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งมีฤทธิ์ตามกลไกทางเภสัชวิทยาที่สามารถเกิดได้จาก NSAIDs ทั้งกลุ่ม ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่ามี NSAIDs บางตัวที่เพิ่มความดันโลหิตได้น้อย ได้แก่ sulindac แต่อย่างไรก็ตามยานี้อาจไม่มีจำหน่ายในร้านยาบางร้าน จึงทำให้เกิดคำถามในทางปฏิบัติว่าจะต้องจัดการอย่างไร นอกจากนี้ NSAIDs สามารถเกิดอันตรกิริยากับยาลดความดันโลหิตบางตัว และนำไปสู่การลดประสิทธิภาพของยา โดยเฉพาะยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors ได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยไม่มีข้อบ่งใช้ NSAIDs ก็ไม่ต้องใช้ยา แต่หากผู้ป่วยมีข้อบ่งใช้ NSAIDs และมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แต่ความดันโลหิตยังไม่สูงมาก หรือ ยังสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ในช่วงเป้าหมาย ให้พิจารณาว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ NSAIDs ยาวนานมากกว่า 1 สัปดาห์หรือไม่ หาก “ใช่” ให้เลือกใช้ NSAIDs ที่มีผลต่อความดันโลหิตน้อยที่สุด คือ sulindac เป็นลำดับแรก แต่หากไม่มี sulindac อาจเลือกใช้ NSAIDs ที่มีผลเพิ่มความดันโลหิตเป็นลำดับรองลงมา คือ celecoxib และยังคงต้องเฝ้าระวังผลต่อความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายค่ายา หรือมีข้อห้ามใช้ยา celecoxib เช่น มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้เปลี่ยนไปใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นแทน เช่น paracetamol หรือ NSAIDs ในรูปแบบยาทาเฉพาะที่ หากมีข้อบ่งใช้ NSAIDs แต่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง และต้องการใช้ NSAIDs ในระยะสั้นๆ (น้อยกว่า 1 สัปดาห์) อาจเลือกใช้ NSAIDs ที่มีหลักฐานว่าเหนี่ยวนำให้เพิ่มความดันโลหิตได้น้อย เช่น naproxen เป็นต้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังผลต่อความดันโลหิต และระบบทางเดินอาหารส่วนบน อย่างใกล้ชิด สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง และไม่สามารถคุมความดันโลหิตได้ ให้ห้ามใช้ NSAIDs
คำสำคัญ
ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การเหนี่ยวนำภาวะความดันโลหิตสูง