บทความวิชาการ
การจัดทำตำรายาของประเทศไทย ตำราบริติชฟาร์มาโคเปีย ตำราฟาร์มาโคเปีย ของสหรัฐอเมริกา ตำราอินเตอร์แนชนาลฟาร์มาโคเปีย และตำรายาของยุโรป
ชื่อบทความ การจัดทำตำรายาของประเทศไทย ตำราบริติชฟาร์มาโคเปีย ตำราฟาร์มาโคเปีย ของสหรัฐอเมริกา ตำราอินเตอร์แนชนาลฟาร์มาโคเปีย และตำรายาของยุโรป
ผู้เขียนบทความ ภญ. ธนิตา ปัทมจินดา
สถาบันหลัก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
รหัสกิจกรรม 3002-1-000-004-12-2559
ผู้ผลิตบทความ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 26 ธ.ค. 2559
วันที่หมดอายุ 25 ธ.ค. 2560
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) คณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นชอบให้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำตำรายาของประเทศไทย (Thai Pharmacopoeia Committee) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อดำเนินงานต่างๆ ในการจัดทำตำรายาของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ตำรายาดังกล่าวเป็นคู่มือมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งวัตถุดิบ และสารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ในทางเภสัชกรรมที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย โดยแต่เดิมนั้น ตำรายาที่คณะรัฐมนตรีประกาศรับรองให้ใช้เป็นตำรายาแผนปัจจุบัน ได้แก่ ตำราบริติชฟาร์มาโคเปีย (British Pharmacopoeia, BP). ตำราฟาร์มาโคเปียของสหรัฐอเมริกา (The United States Pharmacopeia and National Formulary, USP-NF) และตำราอินเตอร์แนชนาลฟาร์มาโคเปีย (International Pharmacopoeia, Ph. Int.) แต่เนื่องจากข้อแตกต่างทางด้านเงื่อนไขและสภาวะต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะร้อนชื้นซึ่งทำให้ในบางครั้งผลการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มีความคลาดเคลื่อนจากข้อกำหนดมาตรฐานที่ตำรายาต่างประเทศดังกล่าวได้ระบุไว้ อีกทั้งการตรวจวิเคราะห์หลายๆ วิธีจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงที่มีราคาแพง ทำให้เป็นปัญหาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กซึ่งไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้วัตถุดิบหลายๆ ชนิดที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย ก็มิได้มีการระบุไว้ในตำรายาของต่างประเทศ ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้จึงได้เกิดแนวคิดในการจัดทำตำรายาของประเทศไทยขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตยาและบุคลากรทางด้านการแพทย์ได้มีตำรายามาตรฐานที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการในวงการอุตสาหกรรมยาและการแพทย์ของประเทศไทย โดยมุ้งเน้นไปที่การปรับปรุงวิธีการตรวจวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับสภาวะของประเทศไทยโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์หรือเทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก แต่สามารถให้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งยังเป็นตำรายาที่เป็นที่เชื่อถือ และได้รับการรับรองตามกฎหมาย
คำสำคัญ
ตำรายา ประเทศไทย