บทความวิชาการ
การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในผู้สูงวัยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง (Potentially Inappropriate Medication Use in Geriatric Patient with Chronic Kidney Disease)
ชื่อบทความ การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในผู้สูงวัยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง (Potentially Inappropriate Medication Use in Geriatric Patient with Chronic Kidney Disease)
ผู้เขียนบทความ อ.ภก.สุธาร จันทะวงศ์, นศภ.แดนไกล ปุริมาตร, นศภ.ก้านเตย ตันทวีวงศ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-1-000-002-10-2561
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 11 ต.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 10 ต.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease: CKD) เป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases; NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลก ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการจนกระทั่งโรคดำเนินไปถึงระยะท้าย ความชุกของการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง (ไม่แบ่งระยะ) คิดเป็นร้อยละ 13.4 และ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะ 3-5 คิดเป็นร้อยละ 10.6 ระยะที่พบมากที่สุด คือ ไตวายเรื้อรังในระยะที่ 3 (ร้อยละ11-13)1 ในประเทศไทยมีการวิจัยระบุความชุกของผู้ป่วยนอกโรคไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 เป็น 6.8 และผู้ที่มีระดับครีแอทินินในเลือด (serum creatinine: SCr) สูงขึ้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 เป็น 16.9 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2528-25402 โดยพบในเขตกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสะสม (ระหว่างปี พ.ศ.2551-2555) ที่มีความชุกสูงสุด คือ โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน หากไม่สามารถควบคุมโรคให้ได้ตามเป้าหมายการรักษา มักจะเกิดสภาวะแทรกซ้อนทางไตนำไปสู่การเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ในภายหลัง (ร้อยละ 15.4 และ 7.2 ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน)3 อายุของผู้ป่วยจัดเป็นหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวายเรื้อรังและเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป4 นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคไตวายเรื้อรังที่ควรทราบ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน เพศหญิง เชื้อชาติแอฟริกาและอเมริกา5 โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลง นำไปสู่การเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับการฟอกไต การปลูกถ่ายไต และ ยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งในสองทศวรรษที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 12.0 ต่อปี6 บุคลากรทางการแพทย์ต้องวางแผนการจัดการที่เหมาะสม ผ่านการประเมินทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ การให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมปัจจัยที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคไตเรื้อรัง รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือของผู้ป่วยในการใช้ยาตามแผนการรักษา เพื่อป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย2,7 ปัญหาการรักษาด้วยยาอย่างไม่เหมาะสม มักตรวจพบในผู้ป่วยสูงวัยโรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ ลดลง (เช่น ตับ ไต) ทำให้กระบวนการเมแทบอลิซึมและการขับออกของยาเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reaction: ADR) ที่สำคัญทางคลินิกได้ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalaemia), ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal insufficiency)8-9 ในบทความนี้ผู้นิพนธ์จะทบทวนความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเกณฑ์ของเบียร์ (Beers’ criteria) ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาการใช้ยาในผู้ป่วยสูงวัย รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีผลต่อการใช้ยาไม่เหมาะสม ชนิดของยาที่พบการใช้ยาไม่เหมาะสม การใช้ยาอย่าง สมเหตุผลในผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคไตเรื้อรัง แนวปฏิบัติและบทบาทของเภสัชกรในการจัดการและการติดตามใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
คำสำคัญ
การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม, ผู้สูงวัย, โรคไตวายเรื้อรัง, Inappropriate Medication Use, Geriatric Patient,