บทความวิชาการ
งานบริการเภสัชกรรมในคลินิกหมอครอบครัว
ชื่อบทความ งานบริการเภสัชกรรมในคลินิกหมอครอบครัว
ผู้เขียนบทความ ภญ. ปภัสรา วรรณทอง และภก.ผศ.ดร.บุรินทร์ ต.ศรีวงษ์
สถาบันหลัก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
รหัสกิจกรรม 5002-1-000-002-01-2562
ผู้ผลิตบทความ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 14 ม.ค. 2562
วันที่หมดอายุ 13 ม.ค. 2563
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
การจัดบริการเภสัชกรรม (Pharmacy service) ในคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster; PCC) คือ การให้บริการสุขภาพด้านปฐมภูมิ เป็นอีกบริบทหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของเภสัชกร โดยโครงการคลินิกหมอครอบครัว เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นตามนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพด้านปฐมภูมิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้หนึ่งทีมหมอครอบครัวดูแลประชาชนจำนวน 10,000 คน โดยมีเภสัชกรเป็นส่วนหนึ่งของทีม การให้บริการเภสัชกรรมในคลินิกหมอครอบครัวนั้นยึดหลักเวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลแบบองค์รวม อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการจัดบริการโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centered Care) จากแนวทางการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว ได้กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรในคลินิกหมอครอบครัวไว้ดังนี้ 1.พัฒนาระบบยาในคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นงานบริหารเวชภัณฑ์ และงานบริบาลเภสัชกรรม 2. งานดูแลผู้ป่วยในระดับบุคคล และครอบครัวต่อเนื่องด้านเภสัชกรรม 3.งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา และสุขภาพ และ 4.งานส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านสมุนไพร และสุขภาพ ซึ่งลักษณะงานบริการเภสัชกรรมในคลินิกหมอครอบครัว เภสัชกรควรให้บริการเภสัชกรรมโดยใช้หลักเวชศาสตร์ครอบครัวร่วมกับการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้เภสัชกรสามารถเข้าถึงผู้ป่วย เข้าใจวิถีชีวิตของผู้ป่วย และครอบครัว สามารถหาทางแก้ไขปัญหาด้านยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้แต่ละราย ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจในบริการของเภสัชกร หรืออาจเรียกเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ว่าเป็นเภสัชกรประจำครอบครัว (Family Pharmacist)
คำสำคัญ
Primary Care Cluster