การประชุมวิชาการ
โครงการสัมมนาวิชาการ JSPS-NRCT Follow-Up 2017 และประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 33 “ความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์จากงานวิจัยพื้นฐานสู่งานวิจัยประยุกต์”
ชื่อการประชุม โครงการสัมมนาวิชาการ JSPS-NRCT Follow-Up 2017 และประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 33 “ความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์จากงานวิจัยพื้นฐานสู่งานวิจัยประยุกต์”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-011-03-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 02 -03 มี.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
JSPS-NRCT Core University Exchange System on Pharmaceutical Sciences
เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2533 จากข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในสาขาเภสัชศาสตร์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (National Research Council of Thailand, NRCT)
และองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science, JSPS) การสรุปผลสำเร็จของโครงการ หลังจากการดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีข้อตกลงดำเนินโครงการต่อภายใต้ชื่อโครงการใหม่ว่า Natural Medicine in Pharmaceutical Sciences
ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2544 ถึง 31 มีนาคม 2554 โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยแกนนำ (Core University)
ของฝ่ายไทย และ Institute of Natural Medicine, Toyama Medical and Pharmaceutical University เป็นมหาวิทยาลัยแกนนำของฝ่ายญี่ปุ่น โดยแต่ละฝ่ายมีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยร่วม (Cooperative University) ซึ่งฝ่ายไทยประกอบด้วย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี Institute of Traditional Medicine และ Institute of Materia Medica, Hanoi, Vietnam ร่วมด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วย Graduate School of Pharmaceutical Sciences, University of Tokyo; Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chiba University; Oriental Medicine Research Center of Kitasato Institute; Meiji Pharmaceutical University; Gifu Pharmaceutical College; Graduate School of Science, Nagoya University; Faculty of Pharmaceutical Sciences, Hiroshima University

วัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือภายใต้โครงการ JSPS-NRCT Core University Exchange System on Natural Medicine in Pharmaceutical Sciences คือ ส่งเสริมให้นักวิจัยไทยและญี่ปุ่น
ในสาขาเภสัชศาสตร์ด้าน Natural Medicine ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ด้วยการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การร่วมมือทำวิจัยในหัวข้อที่สนใจร่วมกัน การให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยจากประเทศไทยเดินทางไปปฏิบัติงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่น การผลิตบัณฑิตระดับดุษฎีบัณฑิตแบบวิทยานิพนธ์ในสาขาเภสัชศาสตร์ร่วมกัน ตลอดจนการจัดประชุมทางวิชาการ
การประชุมวิชาการอันเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ข้อผูกพันของข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว
มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของผลงานวิจัยที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการไปทุก 2 ปี และมีการสัมมนาเพื่อติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านการวิจัยสาขาต่างๆ (Follow-Up Seminar) ในปีที่ไม่ได้จัดประชุมวิชาการ สำหรับการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยได้ดำเนินมาแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้ง
ตลอดโครงการ JSPS-NRCT Core University Exchange System on Pharmaceutical Sciences ปัจจุบันแม้ว่าโครงการมหาวิทยาลัยแกนนำได้ยุติลง แต่ผลจากการส่งเสริมความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศตลอด 20 ปี ได้พัฒนาเป็นความร่วมมือทางด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนนักวิจัยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2560 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดประชุมอีกครั้งหนึ่งภายใต้โครงการ The JSPS-NRCT Follow-Up Seminar 2017 และเพื่อให้ผลงานจากโครงการ
ความร่วมมือของทั้งสองประเทศได้เผยแพร่ในวงกว้าง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จึงจัดงาน The JSPS-NRCT Follow-Up Seminar 2017 ร่วมกับงานวิจัยประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์
โดยในปี พ.ศ. 2560 เป็นการจัดงาน 33rd International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการประชุมเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ในสาขาเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นงานประชุมที่จัดโดยคณะเภสัชศาสตร์ยาวนานที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทั่วประเทศ
มีการส่งผลงานทางเภสัชศาสตร์ทุกสาขาเพื่อเผยแพร่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี สืบเนื่องมาโดยตลอดทุกปี
งานประชุมวิจัยประจำปีของคณะเป็นเวทีวิชาการที่เปิดโอกาสให้กับ คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา ทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ
ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับทราบ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์วิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยในปีนี้เป็นการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยต่างประเทศแล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของนักวิจัยไทยและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย

การประชุมวิชาการ The JSPS-NRCT Follow-Up Seminar 2017 and 33rd International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences (JSPS-NRCT 2017 and IAMPS33) จึงเป็นงานประชุมวิชาการพร้อมกัน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการประชุมวิชาการภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (National Research Council of Thailand, NRCT) และองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science, JSPS) หรือ The JSPS-NRCT Follow-Up Seminar 2017 และการประชุมวิจัยประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ 33rd International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดหัวข้อการประชุมเป็น “Advances in Pharmaceutical Sciences: Transition from Basic to Translational Research” ซึ่งจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 2–3 มีนาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านสามารถเข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามระเบียบของทางราชการ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นเภสัชกร จะได้รับการรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องจากสภาเภสัชกรรม การประชุมจะประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและการนำเสนอผลงานวิจัยรับเชิญโดยนักวิจัยไทยและต่างประเทศรวม 20 ท่าน และการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ (oral and poster presentations) ทั้งของผู้เสนอจากฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นเป็นหลัก รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้
1) Pharmaceutical Chemistry and Natural Products
2) Biopharmaceutical Sciences
3) Pharmaceutical Technology
4) Clinical and Social/Administrative Pharmacy

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวงที่กว้างขึ้น ผลงานที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการนี้ จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวบรวมบทความวิจัย (proceedings) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวารสารไทยเภสัชสารฉบับเพิ่มเติม (supplement issue) โดยที่ต้นฉบับจะเป็นบทคัดย่อ (abstract) หรือบทคัดย่อร่วมกับบทความฉบับสมบูรณ์ (full paper) ความยาว 4 หน้ากระดาษ A4 ตามรูปแบบที่กำหนด
โดยผลงานทุกเรื่องจะมีคณะกรรมการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของผลงาน (peer review) ก่อนการตีพิมพ์ ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ http://www.pharm.chula.ac.th/ircps33/
ตามวันและเวลาที่กำหนดเพื่อรับหนังสือรวบรวมบทความวิจัยในวันที่ประชุม

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีการมอบรางวัล Nagai Award Thailand 2017 (ครั้งที่ 19)
ให้แก่ผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นระดับนานาชาติ ในวารสารที่ยอมรับในวงการวิชาการ โดย Professor Tsuniji Nagai ประธาน Nagai Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนรางวัลนี้มาโดยตลอด ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นรางวัล
ที่มีเกียรติและทรงคุณค่าทางการวิจัย และจัดเป็นรางวัลที่ทุกคนรู้จักมากที่สุดรางวัลหนึ่งในสาขาเภสัชศาสตร์ โดย Professor Nagai จะเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้แก่นักวิจัยชาวไทยด้วยตนเอง รวมจำนวน 3 รางวัล
รางวัลละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้
1) รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นสาขา Pharmacy Practice/Social and Administrative Pharmacy รวมจำนวน 1 รางวัล
2) รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นสาขา Pharmaceutical Sciences รวมจำนวน 2 รางวัล
วัตถุประสงค์
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น และจากประเทศต่างๆ
ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและวิจัย
2.2 เพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกรทุกสาขา คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นผู้นำทางวิชาการของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
2.3 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายไทยได้พบปะทำความรู้จักคุ้นเคยกับนักวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย ในระหว่างบุคคลต่อบุคคลต่อไปในอนาคต
2.4 เพื่อสรุปความก้าวหน้าของความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยภายใต้โครงการ JSPS-NRCT ที่ได้ดำเนินมาและร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาความร่วมมืออย่างสืบเนื่องสำหรับอนาคต
คำสำคัญ
เผยแพร่ผลงานวิจัย
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุมวิชาการฯ ได้ทางเว็ปไซด์http://www.pharm.chula.ac.th/ircps33/