การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการพัฒนาการให้บริการเสริมของเภสัชกรชุมชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เทคนิคการให้คำแนะนำเพื่อเชิญชวนผู้รับบริการเข้ารับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเครือข่าย
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการพัฒนาการให้บริการเสริมของเภสัชกรชุมชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เทคนิคการให้คำแนะนำเพื่อเชิญชวนผู้รับบริการเข้ารับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเครือข่าย
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รหัสกิจกรรม 1007-2-000-007-03-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมร้านอาหารต้นก้ามปู อ.เมือง จ.พิษณุโลก
วันที่จัดการประชุม 22 เม.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในร้านยาในพื้นที่สปสช. เขต 2
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งต่อสุขภาพของประชาชน และต่อรัฐในฐานะผู้รับผิดชอบหลักต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องโรคและการรักษา การไม่ใช้ยาตามคำแนะนำ (medication non-adherence) การแสวงหาการรักษาด้วยตนเองจนทำให้เกิดการใช้ยาซ้ำซ้อน การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา-ยา และยา-อาหารเสริม ส่วนใหญ่สามารถที่จะป้องกันได้หากมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในแนวทางการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรค และสร้างเสริมสุขภาพ โดยควรมีการดำเนินการในวงกว้างและจริงจังเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมถึงได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย
ร้านยาหรือสถานประกอบการเภสัชกรรมชุมชน จัดเป็นสถานบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน และถือเป็นสถานบริการสุขภาพด่านแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้บริการเสริมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลจากโครงการนำร่องที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าบทบาทการให้บริการเสริมหลากหลายรูปแบบของ เภสัชกรชุมชนมีประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในด้านต่างๆ เช่น สร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ส่งต่อผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม ทำให้ผู้รับบริการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนัก ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ยา และป้องกันปัญหาจากการใช้ยา (drug therapy problem) เป็นต้น
ในปัจจุบันแม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้มีการพัฒนารูปแบบและแนวทางการให้บริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและระบบการรักษาได้กว้างขวางและครอบคลุมโรคต่างๆ ได้มากขึ้น และมีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแบบก้าวกระโดดเกือบเท่าตัวจากปี พ.ศ. 2550 จำนวน 1,659.20 บาท มาเป็น 2,895.09 บาทในปี พ.ศ. 2557 แต่จำนวนผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ยังมีแนวโน้มไม่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ) การให้บริการเสริมของร้านยาย่อมทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และช่วยเสริมให้บรรลุเป้าหมายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในที่สุด
มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11/2557 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2557 เรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุง “ข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พ.ศ. 2547 ลว 24 ก.ย. 2547” มีการปรับนิยาม หน่วยบริการร่วมให้บริการ ให้หมายถึง สถานบริการที่จัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิเฉพาะด้านตามที่สำนักงานกำหนด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการโดยมีข้อตกลงเป็นหนังสือกับหน่วยบริการประจำ หรือ สำนักงาน ในการให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ ทั้งนี้หน่วยบริการร่วมให้บริการมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการประจำ หรือจากกองทุนตามที่คณะกรรมการกำหนด สามารถทำข้อตกลงเป็นหนังสือกับหน่วยบริการประจำ หรือ สำนักงาน (สปสช.) ในการให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ และมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการประจำ หรือจากกองทุนตามที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ร้านยาในพื้นที่สปสช. เขต 2 ได้เริ่มเข้าร่วมให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ทางคณะเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงานวิชาการจึงเห็นควรจัดโครงการให้บริการเสริมของเภสัชกรชุมชนในพื้นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 2 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มจำนวนร้านยาที่เข้าร่วมโครงการและขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงเพื่อดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการให้บริการของร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และประสานเชื่อมต่อการให้บริการระหว่างร้านยาและสถานบริการสุขภาพหลักอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้ชุมชนรับทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่สามารถเข้ารับบริการได้จากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ

วัตถุประสงค์
1.เพื่อสนับสนุนเภสัชกรร้านยาเข้าร่วมโครงการให้บริการเสริมของเภสัชกรชุมชนในพื้นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 2
2.เพื่อส่งเสริมการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คำสำคัญ
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เภสัชกรชุมชน ร้านยาคุณภาพ บริการเสริม