การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ“เภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2560”
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ“เภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2560”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-025-06-2560
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 29 -30 มิ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน จำนวน 200 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 9.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน มีหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตเป็นหลักสูตร 6 ปีใน 2 สาขาวิชาหลัก คือ สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และหลักสูตรการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษามากมาย การจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ จะเป็นเวทีสำคัญในสร้างเสริมความเข้าใจสถานการณ์ระบบสุขภาพ วิชาชีพ สภาพแวดล้อมอื่นๆที่มีผลต่อการจัดศึกษา เป็นเวทีในการให้ความรู้ในการด้านเภสัชศาสตร์ศึกษาและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์เภสัชศาสตร์ทุกสถาบัน
การประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ได้มีการจัดประชุมเป็นระยะแต่ไม่ต่อเนื่อง จนถึงปี 2559 ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์ห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบนั จัดการจัดประชุมจัดการประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาขึ้นในวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2559 โดยได้จัดเป็นการประชุมก่อนการประชุมความร่วมมือ US Thai Consortium ในการจัดประชุมครั้งนั้นได้มีคณาจารย์เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คนและได้มีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไปยังคณาจารย์เภสัชศาสตร์ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้อีกจำนวนหนึ่ง ผลการประชุมมีประโยชน์และคณาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุมสนับสนุนให้มีการจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี
ในช่วงปี 2559 ถึง 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม สถานการณ์ระบบสุขภาพ วิชาชีพและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์อย่างมากในหลายด้าน ทั้งการเพิ่มสาขาความเชี่ยวชาญ การปรับหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา เทคโนโลยีและวิธีการจัดกาศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนใหม่ๆ รวมทั้งการขยายตัวของความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ในต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเซีย และอเมริกา อย่างต่อเนื่อง ทั้งความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาการศึกษา การแลกเปลี่ยนอาจารย์ นิสิตนักศึกษา และที่สำคัญการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพในต่างประเทศของนิสิตนักศึกษาไทย และการรับฝึกงานของนักศึกษาต่างชาติ ถือได้ว่าจุดเริ่มของเป็นการขยายขอบเขตการจัดการศึกษาให้กว้างขวางจากในประเทศสู่นานาชาติ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย
การจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาประจำปี 2560 จึงกำหนดประเด็นหลัก คือ ขอบฟ้าใหม่ของการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ไทย (The New Horizon of Thai Pharmacy Education) และได้กำหนดจัดขึ้นวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ศ.ศ.ภ.ท. และคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบันจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ประเทศไทยและคณะเภสัชศาสตร์ของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 12 สถาบัน มีคณบดีหรือผู้บริหารระดับสูงของคณะเภสัชศาสตร์ของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมวิชาการ และจะร่วมบรรยายความรู้ในการประชุมวิชาการซึ่งจะทำให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้รับรู้ เข้าใจ ความก้าวหน้าของการจัดการศึกษา
เภสัชศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นข้อมูลในการสร้างความร่วมมือในกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ในงานประชุมวิชาการได้เปิดรับงานวิจัยการศึกษาเพื่อนำเสนอโปสเตอร์ และจัดให้มีการประกวดงานวิจัยการศึกษาในสาขาต่างๆดีเด่น และมีการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์ในสาขาการเรียนการสอน ด้านการสอนคลินิก การสอนทางด้านเภสัชศาสตรอุตสาหการ และการสอนในสาขาเภสัชศาสตร์สังคม และการให้ความรู้การใช้งานเทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการศึกษา ทั้งการบริหารสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนและเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ๆ
วัตถุประสงค์
• เพื่อให้ข้อมูลบริบทของสังคม สถานการณ์ระบบสุขภาพ วิชาชีพและวิชาการที่เกี่ยวข้องการจัดการศึกษาของเภสัชศาสตร์และทิศทางในอนาคตแก่คณาจารย์เภสัชศาสตร์
• เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความก้าวหน้า พัฒนาการการจัดการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและหาแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
• เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยการศึกษาของคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ และเป็นเวทีให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ และวิธีการจัดการ เรียนการสอนที่ดี
• เพื่อให้ความรู้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ เพื่อการบริหารสถาบันและเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน และเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ ๆ
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-8283 หรือ 02-218-8454 หรือทางอีเมลล์ CE@PHARM.CHULA.AC.TH