การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการทางเภสัชกรรม เรื่อง กฎหมาย และจริยธรรมในการจัดการงานเภสัชกรรม
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการทางเภสัชกรรม เรื่อง กฎหมาย และจริยธรรมในการจัดการงานเภสัชกรรม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รหัสกิจกรรม 1006-2-000-014-03-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องแกรนด์รัชดา ชั้น ๕ อาคารธารทิพย์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 12 -16 มี.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กลุ่มเป้าหมาย ๑. เภสัชกรและผู้สนใจ จำนวน ๑๐๐ คน ๒. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน ๑๑ คน ๓. นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน ๒๓ คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 33.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์จำเป็นต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆขึ้น เพื่อจำกัดประพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม ป้องกันไม่ให้มีการกระทบกระทั้งกันจนเกิดเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกัน อันจะส่งผลต่อความเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อยของสังคม เภสัชกรมีสถานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปเฉกเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นๆ ดังนั้นเภสัชกรจึงต้องเรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่มีใช้ในสังคมนั้นๆ
อย่างไรก็ดีเภสัชกรในฐานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกทั่วไปแล้ว ยังต้องเรียนรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพซึ่งบัญญัติเป็นการเฉพาะสำหรับควบคุมพฤติกรรมในการประกอบวิชาชีพกรรมรวมทั้งจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมด้วย เนื่องจากการประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทนายความ วิศวกร ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านซึ่งบุคคลทั่วไปไม่อาจที่จะตรวจสอบความถูกต้องของการประกอบวิชาชีพนั้นๆได้โดยง่าย การใช้บริการของคนในสังคมจึงต้องอาศัยความไว้วางใจในผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้นหากการประกอบวิชาชีพปราศจากความระมัดระวังอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้มากกว่าการกระทำของคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกฎหมายที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเหล่านี้เพิ่มขึ้น อาทิเช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๐ บัญญัติว่าเมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด หากศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้น ต่อไปอาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติที่ใช้ควบคุมการประกอบวิชาชีพต่างๆ อาทิเช่น พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ และ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๘ พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒
ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้กฎกติกาของสังคมต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการประกอบวิชาชีพ จึงได้จัดโครงการบริการวิชาการสำหรับเพิ่มพูนความรู้และทักษะในด้านกฎ ระเบียบ จรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และคณะเภสัชศาสตร์ของ มหาวิทยาลัย ๔ แห่งของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการจัดทำหลักสูตรร่วมระดับปริญญาโททางเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร โดยเป็นการศึกษาที่มีการบริหารจัดการในระบบชุดวิชา (Module System)
วัตถุประสงค์
๑. ทราบแนวคิดพื้นฐานและทฤษฎีด้านกฎหมายและจริยธรรม
๒. เข้าใจกฎหมายและจริยธรรมที่สำคัญๆทางด้านเภสัชกรรมและระบบสุขภาพ
๓. เข้าใจการบังคับใช้ การขัดแย้งและการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการงานเภสัชกรรม
๔. สามารถใช้หลักกฎหมายและจริยธรรมในการวิเคราะห์กรณีศึกษา
๕. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
คำสำคัญ
Law, Ethics, Pharmacist, Pharmacy management
วิธีสมัครการประชุม
หน่วยเครือข่ายเภสัชสนเทศ “ประชานาถ” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ๗๓๐๐๐ (คุณกัลยา อรวิเชียร) โทรศัพท์: ๐๘๙-๙๑๘๓๙๒๑ โทรสาร: ๐-๓๔๒๔-๔๔๖๓