การประชุมวิชาการ
โครงการบูรณาการองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 (องก์ที่ 2 และ 3)
ชื่อการประชุม โครงการบูรณาการองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 (องก์ที่ 2 และ 3)
สถาบันหลัก วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รหัสกิจกรรม 1012-2-000-003-03-2561
สถานที่จัดการประชุม สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
วันที่จัดการประชุม 26 -29 มี.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ผู้ปฏิบัติงานด้านสมุนไพร และบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 60 คน และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 20 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 21.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการวิจัยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรทั้งในลักษณะของสมุนไพรสด สมุนไพรแห้ง เครื่องยา หรือผงยา ตลอดจนนำมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภค นอกจากนั้นยังมีการใช้ยาสมุนไพรในรูปแบบอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เป็นต้นโดยพบว่าแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยมีมากขึ้น มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการใช้สมุนไพรสูงถึงปีละ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย สำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพร และใช้ในการอ้างอิงสำหรับการขึ้นทะเบียนตำรับยาสมุนไพรไทย เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของพืชสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยที่ศึกษาและสร้างองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมสมุนไพรอยู่จำนวนมาก โดยมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านวารสารระดับนานาชาติและระดับชาติ แต่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นกระจัดกระจายในหลายแหล่งและหลายรูปแบบ ซึ่งมิได้มีการนำมาบูรณาการกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการสมุนไพรไทย ฉะนั้นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมสมุนไพรไทยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการวิจัยด้านสมุนไพร พัฒนาคุณภาพสมุนไพรระดับห้องปฏิบัติการ การผลิตในระดับอุตสาหกรรม การนำสมุนไพรไปใช้ในระดับประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดเป็นฐานความรู้ของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประชาคมอาเซียน
ดังนั้น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยการแพทย์ แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยทางคลินิกและการใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ จึงดำเนินการ “โครงการบูรณาการองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการวิจัยทางคลินิกและการใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดีกับการพัฒนายาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย การบูรณาการความรู้การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยสู่การใช้ประโยชน์ในการประกันสุขภาพระดับชาติ และสิทธิประโยชน์เพื่อพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาไทย ตลอดจนสร้างกระบวนการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหน่วยงานที่ดำเนินการด้าน Clinical research center for traditional medicine
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดการความรู้เชิงบูรณาการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยจากผู้เชี่ยวชาญสู่บุคคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุขไทย
คำสำคัญ
มาตรฐานสมุนไพร, การบูรณาการองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมสมุนไพร, การพัฒนาการวิจัยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร