การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพสำหรับเภสัชกรปฐมภูมิ เรื่อง การซักประวัติและการประเมินอาการเบื้องต้นเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพสำหรับเภสัชกรปฐมภูมิ เรื่อง การซักประวัติและการประเมินอาการเบื้องต้นเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-043-11-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 25 พ.ย. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ นิสิต/นักศึกษาเภสัชศาสตร์ และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 80 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การซักประวัติ (History taking) และการประเมินอาการเบื้องต้น (Physical examination) เป็นสมรรถนะทางวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อสนับสนุนการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้การซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญในการประเมินสภาวะทางสุขภาพของผู้ป่วย ความสำเร็จของกระบวนการซักประวัติและการตรวจร่างกายนี้ขึ้นกับเทคนิคการสื่อสาร การสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลอย่างมีเป้าหมายและเหมาะสม รวมถึงรับรู้ความสำคัญในการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและแนวทางการได้มาซึ่งข้อมูลและประวัติการใช้ยา เพื่อที่เภสัชกรจะสามารถรวบรวมข้อมูลประกอบการเลือกใช้ยาได้อย่างสมเหตุสมผลรวมถึงสามารถตัดสินใจในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมั่นใจและสามารถจัดเตรียมใบส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้เพื่อให้วิธีการติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย (medication therapy management) สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาประเทศไทย 4.0 ภายใต้การสนับสนุนจาก Collaboration and Academic Network on MultiDisciplinary Learning and Education (CANDLE) สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (โอสถศาลา) จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน PharmCare Note ขึ้นเพื่อใช้แทนสมุดประจำตัวผู้ป่วย ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีข้อมูลประจำตัวในเรื่องโรคเรื่องยาติดตัวไปตลอด โดยสามารถแสดงข้อมูลประจำตัวแก่บุคลากรทางการแพทย์ได้ทันทีที่เกิดปัญหาหรือต้องการรักษาต่อเนื่องที่หน่วยบริการอื่นที่มิได้ใช้บริการประจำหรือขึ้นทะเบียน ทั้งนี้เภสัชกรสามารถติดตามและจัดการด้านยาของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกแอปพลิเคชั่นหนึ่งคือแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการเยี่ยมบ้านโดยใช้ชื่อ Home Healthcare Note ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึก ส่งต่อ และติดตามข้อมูลของผู้ป่วย (ระหว่างสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมฯ กับศูนย์บริการสาธารณสุข 5) ในการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วย (Home Visit หรือ Home Health Care) ซึ่งเป็นงานประจำอีกอย่างหนึ่งที่สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 5 (ปทุมวัน) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ (Interprofessional Team) สอดคล้องตามนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) อันเป็นนโยบายหลักของประเทศไทยในขณะนี้
ในการนี้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพสำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเภสัชกรปฐมภูมิ โดยเริ่มจากกระบวนการแรกของการดูแลผู้ป่วย นั่นคือ การซักประวัติและการตรวจร่างกายเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สาเหตุของโรค เพื่อการจ่ายยาที่ถูกต้อง มีข้อมูลที่สามารถส่งต่อ (ผู้ป่วย) และติดตามการใช้ยา (ของผู้ป่วย) ได้อย่างมีคุณภาพและถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคที่เป็นอยู่ ลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาและผลการใช้ยาเป็นไปตามเป้าหมายของแพทย์
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เภสัชกรตระหนักและเรียนรู้ว่า เมื่อผู้ป่วยมีพยาธิสภาพ หรืออาการใดมาพบ เภสัชกรควรแนะนำให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยอาจเขียนใบส่งต่อมอบให้ผู้ป่วยด้วย กรณีที่จำเป็น
- เพื่อให้สามารถประเมินติดตามผลการรักษาเพื่อการบริบาลทางเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.pharm.chula.ac.th/ce) โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ - ชำระค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ท่านละ 1,200 บาท - ชำระค่าลงทะเบียนหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ท่านละ 1,500 บาท - หน่วยฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพจะสนับสนุนค่าลงทะเบียนแก่อาจารย์เภสัชกรประจำแหล่งฝึกปฏิบัติงานแห่งละไม่เกิน 1 ท่าน โดยต้องได้รับการตอบรับจากหน่วยฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพก่อน (กรุณาลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2561)