การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางเชิงรุก ครั้งที่ 2
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางเชิงรุก ครั้งที่ 2
สถาบันหลัก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รหัสกิจกรรม 3001-2-000-023-12-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
วันที่จัดการประชุม 19 -20 ธ.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กลุ่มเป้าหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางทั่วประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 12.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ด้วยรัฐบาลมีการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยว่า “ประเทศมีความยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีนโยบายในการนำโมเดลไทยแลนด์ ๔.๐ มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงเป็นเหตุให้ระบบราชการต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อให้สอดรับและส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปข้าราชการให้มีคุณสมบัติและมีศักยภาพเสียก่อน เนื่องจากข้าราชการเป็นตัวแปรที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติและก่อให้เกิดผลลัพธ์สอดคลองกับทิศทางการพัฒนาของประเทศและหน่วยงานของรัฐ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้มีคุณภาพมาตรฐาน และสามารถแข่งขันทางการค้าในระดับสากลได้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้บังคับพระราชบัญญัติฯ ได้มีการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลเครื่องสำอางหลังออกสู่ตลาด คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผลิต หรือนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยประกาศฯ ดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมสถานที่ บุคลากร การดำเนินการผลิตหรือควบคุมคุณภาพ และเอกสารหลักฐานต่างๆ จึงทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ ต้องมีการตรวจสอบถานที่ผลิตและสถานที่นำเข้าตามประกาศฯ ซึ่งการดำเนินให้บรรลุพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำเป็นจะต้องพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง มีทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคแบบเชิงรุกได้ สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางเชิงรุก” ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีความรู้ และทักษะด้านดิจิทัลในการตรวจเฝ้าระวังและกำกับดูแลเครื่องสำอาง เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเครื่องสำอางที่มีความปลอดภัย รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่มีความรู้ และศักยภาพและสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วัตถุประสงค์
๑ เพื่อพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะด้านดิจิทัลในการตรวจเฝ้าระวังและกำกับดูแลเครื่องสำอาง สถานประกอบการเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
๒ เพื่อพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ มีแนวทางการปฏิบัติและเป็นมาตรฐานเดียวกันในการตรวจเฝ้าระวัง และคุ้มครองผู้บริโภคและกำกับดูแลสถานประกอบการเครื่องสำอาง
คำสำคัญ
ดิจิทัล การกำกับดูแลเครื่องสำอางเชิงรุก