การประชุมวิชาการ
บทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บ้านแบบสหสาขาวิชาชีพ
ชื่อการประชุม บทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บ้านแบบสหสาขาวิชาชีพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-2-000-001-01-2560
สถานที่จัดการประชุม ห้อง รัตนโกสินทร์-สุโขทัย (ชั้น 1) โรงแรมนารายณ์ สีลม กทม
วันที่จัดการประชุม 26 -27 ม.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเภสัชกรสาขาวิชาชีพอื่นที่สนใจ และอาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาอื่น รวม 100 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 12 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีคนไข้โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ทำให้มีภาระการดูแลรักษาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สถานพยาบาลและที่บ้าน ซึ่งการดูแลตนเองที่บ้านของคนไข้โรคไตยังมีปัญหามาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถ่ายไต ต้องได้รับการรักษาโดยการให้ยารักษาตามอาการ และการควบคุมอาหาร สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต โดย การล้างไตทางช่องท้องชนิดถาวร (CAPD) หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ( Hemodialysis) มีปัญหาที่พบที่บ้านได้หลากหลาย ได้แก่ การไม่สามารถควบคุมอาหาร การไม่สามารถใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และการติดเชื้อทางช่องท้องในคนไข้ CAPD แม้ว่าคนไข้จะได้รับการอบรมจากบุคลากรที่โรงพยาบาลแล้วก็ตาม ปัญหาดังกล่าวทำให้คนไข้ต้องรับการรักษาเพิ่มขึ้น ภาวะสุขภาพแย่ลง และมีอัตราการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดผลเสียดังกล่าว การติดตามดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื่องการใช้ยาที่บ้านโดยเภสัชกรจึงเป็นสิ่งจำเป็น
บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้านต้องการความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาผู้ป่วยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง การทำงานของทีมสหสาขาวิชาชีพอันประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และอีกหลายวิชาชีพ เพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจปัญหาและร่วมหาทางแก้ไขปัญหากับคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเภสัชกรสามารถช่วยค้นหาและป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา (drug related problems) รวมถึงความทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา (drug related sufferings) อย่างไรก็ตามยังมีเภสัชกรบางส่วนที่ขาดความเข้าใจ ทักษะทางวิชาการ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้านในเชิงลึก รวมทั้งความเข้าใจของ เภสัชกรต่อบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพ การบริหารจัดการและการประสานงานของเภสัชกรกับทีม สหสาขาวิชาชีพ การวางแผนเยี่ยมบ้าน และการประสานงานเพื่อดำเนินการและการส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานปฐมภูมิ (PCU) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต) หรือหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของการให้บริการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในยุคของ service plan, primary care cluster และ district health system (DHS) ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งอำเภอ ผสมผสานทั้งงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโรคเข้าด้วยกัน เน้นการทำงานร่วมกันทั้งภาคีในเครือข่าย และนอกเครือข่ายสาธารณสุข
ดังนั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เภสัชกรที่สนใจงานบริการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้าน ในฐานะหนึ่งในบุคลากรสุขภาพในทีมสหสาขาวิชาชีพ คณะเภสัชศาสตร์ มศว จึงจัดการประชุมวิชาการเรื่อง บทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บ้านแบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อเพิ่มจำนวนเภสัชกรที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานดูแลคนไข้โรคไตเรื้อรังที่บ้านร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้านของเภสัชกร ในฐานะหนึ่งในทีมสหสาขาวิชาชีพ
2. เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการประสานงานในทีมสหสาขาวิชาชีพและระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้าน
คำสำคัญ
ผู้ป่วยฟอกเลือด
วิธีสมัครการประชุม
สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณพัชรนันท์ พิมพิลัย คณะเภสัชฯ มศว เบอร์โทรศัพท์ 037-395-094-5 ต่อ 21523, โทรสาร 037-395-096 Email: thanyananpi@g.swu.ac.th