ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
โครงการหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยา รุ่นที่ 3 (Certificate short course training program in hematology pharmaceutical care)
ชื่อการประชุม โครงการหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยา รุ่นที่ 3 (Certificate short course training program in hematology pharmaceutical care)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-004-01-2567
สถานที่จัดการประชุม
วันที่จัดการประชุม 26 -31 ม.ค. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
มะเร็งเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ เป็นสาเหตุการป่วยและการตายอันดับต้น ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย และมะเร็งที่ต่างอวัยวะก็มีหลักในการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีพยาธิกำเนิด พยาธิสภาพ พยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ขั้นตอนตั้งแต่การวินิจฉัยตลอดจนถึงการวางแผนการรักษาโรคมะเร็งมีความซับซ้อน อาศัยข้อมูลจากหลายองค์ประกอบ อาทิ ข้อมูลรังสีวินิจฉัย ผลทางพยาธิวิทยา รวมไปถึงผลตรวจด้านพันธุกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผลเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาด้วยหลายวิธีร่วมกัน อาทิ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า ตลอดจนการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งการผสมผสานการรักษาเหล่านี้เข้าด้วยกันมีความซับซ้อน ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะเป็น เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้าหรือภูมิคุ้มกันบำบัดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีผลไม่พึงประสงค์ที่อาจร้ายแรงที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยมะเร็งจึงเป็นผู้ป่วยอันดับต้น ๆ ที่ควรได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรที่จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องมีองค์ความรู้เฉพาะ เข้าใจถึงหลักการต่าง ๆ เพื่อจะสามารถดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะต่าง ๆ ของการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวร่วมก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งเภสัชกรต้องประเมินความเหมาะสมของการให้การรักษามะเร็งและการรักษาโรคประจำตัวเดิมว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาเกี่ยวกับยาหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด ย่อมมีผลไม่พึงประสงค์ตามมา และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษาเพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ เภสัชกรที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรเข้าใจถึงผลกระทบซึ่งอาจเกิดจากการรักษาและทราบแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดผลกระทบดังกล่าวที่จะทำให้ไม่ลดทอนประสิทธิผลของการรักษาโรคมะเร็งรวมถึงรักษาสมดุลของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระหว่างการรักษาให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจนเกินไปอีกด้วย
นอกจากความซับซ้อนของการรักษาโรคมะเร็ง ความหลากหลายของยาที่ใช้บริบทต่าง ๆ ของการรักษาโรคมะเร็งดังกล่าวแล้วข้างต้น องค์ความรู้และการพัฒนาด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งยังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เภสัชกรที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องติดตามความก้าวหน้าของการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง รวมไปถึงยาหรือการรักษาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาโรคมะเร็งเพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในความดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของบทบาทเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเล็งเห็นความสำคัญของเภสัชกรที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยผสมยาเคมีบำบัด กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสาขาวิชาโรคโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม (สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยา) Certificate in Pharmacy (Hematology Pharmaceutical Care) หลักสูตรภาคปฏิบัติ 16 สัปดาห์ โดยมีเนื้อหาทางทฤษฎีสอดแทรกตลอดระยะของการฝึกปฏิบัติงาน กำหนดให้เภสัชกรฝึกปฏิบัติงาน ณ หน่วยผสมยาเคมีบำบัด และหน่วยให้ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยนอก อาคารว่องวานิช ชั้น 4 รวมถึงการฝึกปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยเคมีบำบัด 20A (หลิ่มซีลั่นบน) อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกจะได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยา โดยหลักสูตรนี้มีนโยบายและยุทธศาสตร์สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชกรที่ผ่านหลักสูตร จะมีความรู้และทักษะเฉพาะทางการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็งทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นำไปสู่การพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยในเครือข่ายได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ
หลักสูตรนี้เน้นถึงการทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจถึงหลักการทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถนำไปปฏิบัติตลอดจนริเริ่มการให้บริการวิชาชีพเภสัชกรรมด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยมะเร็งได้จริงเมื่อสำเร็จหลักสูตรการอบรม การฝึกปฏิบัติวิชาชีพจะเน้นการใช้ evidence based practice ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้แก่ มีองค์ความรู้ด้านเภสัชบำบัดเชิงลึกในการบริบาลทางเภสัชกรรม มีทักษะในการประยุกต์ความรู้ด้านเภสัชบำบัดในการวางแผนติดตาม ประเมินผลป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยา ส่งเสริม สนับสนุนและให้ข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อมูลที่ทันสมัย สามารถสื่อสารและประสานงานกับบุคลากรทางสาธารณสุขสาขาอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งเป็นผู้นำในด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาศักยภาพเภสัชกรที่สนใจ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง ฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.ce.pharm.chula.ac.th/)