บทความวิชาการ
ความก้าวหน้าในการป้องกันและรักษาภาวะสับสนเฉียบพลัน
ชื่อบทความ ความก้าวหน้าในการป้องกันและรักษาภาวะสับสนเฉียบพลัน
ผู้เขียนบทความ ภญ. พวงเพชร พันธ์สวัสดิ์, ผศ.ภก.ทวนธน บุญลือ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-1-000-005-11-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 30 พ.ย. 2566
วันที่หมดอายุ 29 พ.ย. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
Delirium หรือภาวะสับสนเฉียบพลัน คือ ความผิดปกติของระดับความรู้สึกตัว (consciousness) ความคิด (thinking) และ พฤติกรรม (behavior) ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกตัว การคงความสนใจบกพร่องไป ขาดความใส่ใจต่อตนเองและสภาพแวดล้อม โดยอาการแสดงจะไม่สามารถรับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน คิดวางแผนจัดการสิ่งต่างๆไม่ได้และระลึกข้อมูลหรือความรู้เดิมที่เคยมีไม่ได้ อาการเปลี่ยนแปลงสลับกัน ระหว่างดีและไม่ดีในระหว่างวัน พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดภาวะ delirium ยังไม่ทราบแน่ชัด ทฤษฎีหลักที่ใช้อธิบายเชื่อว่าเกิดจาก การมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่สมอง หรือสารสื่อประสาทขาดความสมดุล เช่น dopamine เพิ่มขึ้น หรือ acetylcholine ลดลง ชนิดของ delirium สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ hypoactive delirium (ง่วงซึมสับสน) hyperactive delirium (กระวนกระวายผิดปกติ) และ mixed delirium (แบบผสมผสาน) มีอาการทั้ง hypoactive สลับกับ hyperactive ในระหว่างวัน เกณฑ์การวินิจฉัยมาตรฐานของภาวะ delirium ใช้เกณฑ์ของ DSM-V หรือใช้แบบประเมินที่มีความแม่นยำและเป็นที่นิยม คือ CAM-ICU, RASS การจัดการภาวะ delirium มี 2 วิธี คือการจัดการวิธีไม่ใช้ยา (non-pharmacological management) และการจัดการวิธีใช้ยา (pharmacological management) ยาที่มีการศึกษาใช้ในการป้องกันภาวะ delirium ได้แก่ กลุ่ม cholinesterase inhibitors, melatonin, antipsychotics agents, dexmedetomidine, analgesics แต่หลักฐานปัจจุบันไม่สนับสนุนการใช้ยาเพื่อป้องกัน ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะ delirium ได้แก่ antipsychotics agents, cholinesterase inhibitors, benzodiazepines, sedative agents โดยยากลุ่ม antipsychotics agents ใช้ในการรักษาอาการกระวนกระวาย (agitation) ใน hyperactive delirium ยา haloperidol เป็นยาตัวแรกที่เวชปฏิบัติของสมาคมแพทย์วิกฤตแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ PADIS guideline แนะนำให้ใช้ในการรักษา delirium ตั้งแต่ปี 2002 ต่อมามีการใช้ atypical antipsychotics เช่น risperidone, olanzapine, ziprasidone, quetiapine, aripiprazole ข้อมูลในด้านประสิทธิภาพพบว่ายังมีความคลุมเครือ มีการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่าการใช้ antipsychotics ในการป้องกันและจัดการ delirium ในผู้ป่วยกลุ่มผู้ป่วย high-risk ที่อยู่ในหอผู้ป่วยศัลยกรรม มีประโยชน์ช่วยลดอุบัติการณ์การเกิด delirium และลดระยะเวลาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ก็มีการศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่สนับสนุนการใช้ antipsychotics เนื่องจากผลในการป้องกันหรือลดความรุนแรงไม่ได้แตกต่างอย่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการไม่ใช้ยา ดังนั้นคำแนะนำในปัจจุบันและในทางปฏิบัติแนะนำการจัดการ delirium ด้วยวิธี non-pharmacological management ก่อน หากไม่ได้ผลค่อยใช้ยา โดยแนะนำให้ใช้ antipsychotics ในผู้ป่วยที่มีอาการทางพฤติกรรมที่รุนแรง (severe agitation) เสี่ยงจะเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และการใช้ควรใช้ระยะสั้นเมื่ออาการดีขึ้นควรหยุดยา
คำสำคัญ
ภาวะสับสนเฉียบพลัน ยาต้านอาการทางจิต การจัดการวิธีใช้ยา การจัดการวิธีไม่ใช้ยา กระวนกระวาย