บทความวิชาการ
การนำส่งยาทางปอด (Pulmonary drug delivery)
ชื่อบทความ การนำส่งยาทางปอด (Pulmonary drug delivery)
ผู้เขียนบทความ รศ. ดร. ภญ.อรลักษณา แพรัตกุล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-1-000-004-11-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 30 พ.ย. 2566
วันที่หมดอายุ 29 พ.ย. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
การนำส่งยาทางปอดจัดเป็นเทคโนโลยีในการนำส่งยาเข้าสู่ทางหายใจหรือทางปอด ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้นและมีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวิธีให้ยาที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวเหมือนการฉีด สามารถใช้ในการบำบัดโรคได้หลากหลาย โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับทางหายใจ/ปอด เช่น โรคหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคติดเชื้อของทางหายใจ รวมถึงประยุกต์ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ นอกจากนี้การนำส่งยาทางปอดยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ให้ผลการรักษาได้ทั้งฤทธิ์เฉพาะที่และทั่วร่างกาย ยาออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว เลี่ยง first-pass metabolism ในตับหรือในทางเดินอาหารได้ มีส่วนช่วยลดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากยา ในภาพรวม การนำส่งยาทางปอดถือว่าเป็นทางให้ยาที่ได้รับความร่วมมือในการใช้ยาที่ดีจากผู้ป่วย การนำส่งยาทางปอดอาศัยอุปกรณ์เฉพาะเพื่อให้นำส่งยาสู่ทางหายใจ ตัวอย่างอุปกรณ์เช่น ยาสูดกำหนดขนาด (pressurized metered-dose inhaler; pMDI), ยาสูดชนิดผงแห้ง (dry powder inhaler), เครื่องพ่นละออง (nebulizer) ยาถูกนำส่งเข้าทางหายใจในรูปของอนุภาคละอองลอยหรือแอโรซอล (aerosol) ซึ่งละอองลอยอาจมีสถานะเป็นของเหลว (สารละลาย ยาแขวนตะกอน) หรืออยู่ในรูปผงแห้ง การประดิษฐ์และออกแบบอุปกรณ์แต่ละประเภทขึ้นกับรูปแบบยา (ของเหลว ของแข็ง) ตำแหน่งเป้าหมายในการนำส่งยา และข้อพิจารณาด้านสภาวะโรค/พยาธิสภาพของผู้ป่วย บทความนี้กล่าวถึงการนำส่งยาทางปอดและระบบนำส่งยาทางปอด มีเนื้อหาครอบคลุมด้าน กายวิภาคของทางหายใจ ข้อดีและข้อจำกัดของการนำส่งยาทางปอด กลไกการเกาะติดของอนุภาคในทางหายใจ ประเภทของอุปกรณ์นำส่งยา ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทางการค้า สารปรุงแต่งในตำรับ และบทบาทของเภสัชกรในการให้คำแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์
คำสำคัญ
ระบบนำส่งยา, ปอด, ทางหายใจ, ละอองลอย, ยาสูด