บทความวิชาการ
การได้รับยาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยสูงอายุ : ความชุก ปัจจัย และเครื่องมือ ที่ใช้ในการประเมิน
ชื่อบทความ การได้รับยาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยสูงอายุ : ความชุก ปัจจัย และเครื่องมือ ที่ใช้ในการประเมิน
ผู้เขียนบทความ หนึ่งฤทัย สุกใส*, กรกนก แสงกาญจนวนิช, ณฐกร ทองจุลละ, ธิษณามดี ทองพุ่ม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-1-000-001-12-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 28 ธ.ค. 2566
วันที่หมดอายุ 27 ธ.ค. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ปัจจุบันสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติประชากรผู้สูงอายุของ UNITED NATIONS ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and Pacific) พบว่า ปี ค.ศ.2020 จำนวนผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ทั่วโลกมีจำนวน 630 ล้านคน1 ส่วนปี ค.ศ. 2021 มีจำนวน 651 ล้านคน2 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากปี ค.ศ. 2020 และปี ค.ศ. 2022 มีจำนวน 670 ล้านคน3 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปี ค.ศ. 2020 โดย World Health Organization (WHO) คาดการณ์ว่าในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า (ปี ค.ศ. 2015 - 2050) จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า (ร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 22)4 ส่วนสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวน 11.7 ล้านคน ปี พ.ศ. 2564 มีจำนวน 12.1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และปี พ.ศ. 2565 สำรวจล่าสุดเดือนสิงหาคม มีจำนวน 12.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงถือได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก5 การที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นด้วย การใช้ยาก็มากขึ้นตามลำดับส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การที่ผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของร่างกายและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมถอยลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคระบบประสาท เป็นต้น จึงมีโอกาสได้รับการรักษาด้วยยามากกว่า 5 รายการ (polypharmacy)6,7,8 ซึ่งสัมพันธ์กับการได้รับยาที่ไม่เหมาะสม8 การได้รับยาที่ไม่เหมาะสมจึงเป็นปัญหาด้านยาที่สำคัญ นำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ ไม่พึงประสงค์ (adverse drug events, ADEs) เช่น การแพ้ยา (drug allergy) การเกิดผลข้างเคียงจากยา (drug side effects) การได้รับยาซ้ำซ้อน (drug duplicate) การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug-drug Interaction) การได้รับยาเกินขนาดหรือผิดขนาด (drug overdose/missed dose) เป็นต้น ทำให้เกิดการเจ็บป่วย การเสียชีวิต และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล9 บทความนี้จึงได้รวบรวมวรรณกรรม เกี่ยวกับความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยสูงอายุเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการได้รับยาที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้สูงอายุในอนาคต
คำสำคัญ
ผู้ป่วยสูงอายุ, ความชุก, ปัจจัย, เครื่องมือ, Elderly Patients, Prevalence, Factors, Assessment tools