การประชุมวิชาการ
โครงการเพิ่มพูนสมรรถนะด้านสมุนไพรให้แก่เภสัชกรทุกสายงาน
ชื่อการประชุม โครงการเพิ่มพูนสมรรถนะด้านสมุนไพรให้แก่เภสัชกรทุกสายงาน
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-2-000-005-03-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมพรภูเบศร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
วันที่จัดการประชุม 27 -29 มี.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่ปฏิบัติงานอยู่ในทุกสายงาน ทุกสังกัด ที่มีความเกี่ยวข้องหรือสนใจด้านเภสัชสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 95 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 19 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ มีพืชสมุนไพรและองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาที่นำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรคสืบมาแต่บรรพกาล รวมทั้งการนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ การใช้สมุนไพรเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเรื่อยมา แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการดำเนินการเกี่ยวกับสมุนไพรนั้น ยังขาดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ขาดกลไกการสนับสนุนการพัฒนาทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากร และศักยภาพในการผลิต โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาส่งเสริมภูมิปัญญาและต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นสมบัติของชาติให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพประชาชนในสถานพยาบาล ลดปัญหาด้านการบริการสุขภาพของรัฐที่ไม่ทั่วถึงเนื่องจากความไม่สมดุลของจำนวนผู้ให้บริการต่อผู้รับบริการ ลดความแออัดและระยะเวลารอคอย ซึ่งนับเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนของระบบสาธารณสุขระดับประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนหากมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในการร่วมพัฒนาศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพรให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติทำให้ทั้งบุคลากรสาธารณสุข ประชาชนไทย และต่างชาติเกิดความมั่นใจต่อการใช้สมุนไพรไทย จะส่งผลให้เกิดการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรฐกิจของชาติได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์การใช้ยาสมุนไพรในปัจจุบันของประเทศ โดยอาจรวมทั้งการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุข และนอกระบบการสาธารณสุข ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรอาจยังเข้าไปดูแลการใช้ยาสมุนไพรได้ไม่ทั่วถึง ตลอดจนข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการใช้ยาสมุนไพร จึงเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดูแลการใช้ยาสมุนไพรอย่างปลอดภัยและเหมาะสมในภาพรวมระดับประเทศ เช่น ยังมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่มีการลักลอบปลอมปนสารอันตรายหรือการนำไปใช้อย่างผิดวิธีจนเกิดอันตราย และการควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นระบบที่ชัดเจน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และเจตคติในการใช้ยาสมุนไพร ปัญหาที่สำคัญอีกประการที่ส่งผลให้การใช้สมุนไพรยังไม่เป็นที่แพร่หลายในระบบสาธารณสุขนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากองค์ความรู้ของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งใช้ยาสมุนไพร ตลอดจนประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงมีขีดจำกัดในองค์ความรู้ความเข้าใจในเชิงทฤษฎีและหลักการในการนำสมุนไพรไปใช้จริงที่ถูกต้องเหมาะสมในทางการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญา ทำให้เป็นการปิดกั้นโอกาสการเลือกใช้ยาสมุนไพรทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งประชาชนและประเทศได้

“เภสัชกร”จัดเป็นบุคลากรที่มีองค์ความรู้พื้นฐานด้านการใช้ยาและสมุนไพรตลอดมา ทั้งด้านการผลิต การค้นคว้าวิจัย การควบคุมคุณภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดหาและกระจายยาและสมุนไพร ตลอดจนการส่งมอบยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้และการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เนื่องจากเป็นบุคลากรที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันได้จึงมีขีดความสามารถที่ช่วยดูแลความปลอดภัยการใช้ยาและสมุนไพรได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเภสัชกรยังมีบทบาทในการเป็นสื่อกลางเพื่อการสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างสหวิชาชีพทั้ง 2 แขนงให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม ก่อเกิดมาตรฐานการรักษาได้ รวมทั้งบทบาทการเผยแพร่ข้อมูลเชิงวิชาการที่เหมาะสมสู่สังคม ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกิดความตระหนักและความเชื่อมั่นว่าการใช้สมุนไพรและภูมิปัญญาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาวะได้อย่างมั่นใจต่อไป

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาจากรากฐานภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีในแผ่นดินไทย เป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้การพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้าง ส่งเสริมการจัดบริการและการใช้สมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุข (2) การวิจัย เสริมสร้างองค์ความรู้ มาตรฐานคุณภาพ และความเสี่ยง (3) การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการของการแพทย์แผนไทย (4) การจัดการและการเข้าถึงยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ (5) การใช้สมุนไพรในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชนและบทบาทหมอพื้นบ้าน และ (6) การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้อง ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น จากทั้ง 6 มาตรการข้างต้น พบว่า “เภสัชกร”หลายสายงานในปัจจุบัน เช่นเภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เภสัชกรอุตสาหกรรม ตลอดจนเภสัชกรในสายงานอาจารย์ ล้วนมีคุณสมบัติและองค์ความรู้ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆมาตรการเพื่อช่วยเป็นหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติให้ดำเนินต่อไปได้ โดยตัวชี้วัดหนึ่งของแผนแม่บทที่สำคัญคือ ร้อยละของผู้ป่วยนอกที่ได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน เป็นตัวอย่างหนึ่งของตัวชี้วัดที่เภสัชกรควรเข้าไปมีบทบาทในการให้บริการทางเภสัชกรรม (Pharmacy service delivery) ประกอบกับในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานที่มีการระบุบทบาทและหน้าที่ของเภสัชกร ซึ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุขสาขาหนึ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนระบบบริการการแพทย์แผนไทย โดยมีตัวชี้วัดที่เภสัชกรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้แก่ การผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) มีการบริบาลเภสัชกรรมในยาจากสมุนไพร มีรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อย 30 20 และ 10 รายการ ใน Advanced, Intermediate และ Basic level ตามลำดับ รวมทั้งมีการส่งเสริมการใช้และคุ้มครองผู้บริโภคจากยาจากสมุนไพรระดับจังหวัดเพื่อตอบตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะในมาตรการที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการของการแพทย์แผนไทย ที่มีการระบุแผนงานในแผนแม่บทแห่งชาติฯ ให้มีการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะเพื่อการผลิตเภสัชกรด้านสมุนไพร โดยเป้าหมายแผนงานดังกล่าว คือ มีเภสัชกรที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสมุนไพร ทางคณะทำงานจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นด้านสมุนไพรและการเตรียมความพร้อมระบบการฝึกอบรมแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชสมุนไพร ร่วมกับสภาเภสัชกรรม จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสมุนไพรให้แก่เภสัชกรในสายงานต่างๆ ที่มีโอกาสทำงานด้านการพัฒนาการใช้สมุนไพรเพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานของกระทรวงสาธารณสุขและประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะเชิงวิชาชีพด้านการผลิตและการใช้สมุนไพร รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคแก่เภสัชกรในสายงานต่างๆ
2. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในการให้บริการทางเภสัชกรรมด้านสมุนไพรที่ปฏิบัติงานในส่วนงานการแพทย์แผนไทย งานคุ้มครองผู้บริโภค และงานบริบาลเภสัชกรรม
3. เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการใช้สมุนไพร ตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งทรัพย์สินทางปัญญาด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ตลอดจนเพื่อสร้างความเคารพศรัทธาเชื่อมั่นในองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาของบรรพชนแก่เภสัชกรรุ่นใหม่
คำสำคัญ
สมุนไพร, เภสัชกร
วิธีสมัครการประชุม
ผู้ประสานงาน: ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ติดต่อผ่าน line ID: song-pakakrong