การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-2-000-001-03-2561
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมทองหลังพระ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วันที่จัดการประชุม 31 มี.ค. 2561 - 01 เม.ย. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรศิษย์เก่า นิสิต และคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เภสัชกรประจำแหล่งฝึก และบุคลากรทางการแพทย์ผู้สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมานเป็นงานวิจัยรูปแบบหนึ่งที่นับวันจะได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการนำผลจากการวิจัยมาใช้ และการทำวิจัยด้วยระเบียบวิธีวิจัยของการทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมาน เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์มีจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีเวลาน้อยอาจจะติดตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ไม่ทัน การใช้ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลาในการค้นหางานวิจัยเชิงทดลองหรือ RCT เนื่องจากได้มีการรวบรวมงานวิจัยที่เป็นปัจจุบันไว้แล้ว และข้อมูลที่ได้จากผลการวิเคราะห์อภิมานงานวิจัย RCT ที่มีคุณภาพ ถือว่ามีระดับความน่าเชื่อถือสูง ผู้ใช้จึงมีความมั่นใจในการที่จะนำผลการประยุกต์ใช้ในงานหรือการดูแลผู้ป่วยของตน นอกจากนี้ในปัจจุบันวารสารระดับชาติและนานาชาติยังมีการยอมรับงานวิจัยการทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมานมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่บุคลากรทางการแพทย์จะทำวิจัยด้านนี้เพื่อนำผลงานที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เป็นการเพิ่มองค์ความรู้และผลงานทางวิชาการให้กับตนเองได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังมีความเข้าใจและความรู้ในการแปลความหมายหรือประยุกต์ใช้ผลการศึกษา หรือการสร้างงานวิจัยจากงานการทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมานน้อย จึงเป็นข้อจำกัดในการนำผลงานด้านนี้มาใช้ประโยชน์ และมีการทำวิจัยโดยใช้เทคนิคด้านนี้อยู่ในวงแคบ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ บุคลากรทางการแพทย์หรือนิสิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนสามารถอ่านและทำงานวิจัยด้านนี้ได้ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการพัฒนารูปแบบจากการวิเคราะห์อภิมานทั่วไปเป็นการวิเคราะห์ที่เรียกว่า network meta-analysis และมีการทบทวบวรรณกรรมของงานวิจัยที่เป็น systematic review and meta-analysis หรือ review of review (umbrella review) เพิ่มขึ้น ซึ่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งมหาบัณฑิตที่กำลังศึกษาอยู่ควรจะทราบ ดังนั้นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเภสัชกรรมคลินิก (มหาบัณฑิต) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเห็นควรให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพการวิจัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษาที่สนใจ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาต่อเนื่องให้กับเภสัชกร เพื่อให้สอดรับกับข้อบังคับของสภาเภสัชกรรมปี พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบวิชาชีพให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพที่ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานของวิชาชีพ โดยกำหนดให้เภสัชกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีการเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องปีละอย่างน้อย 10 หน่วยกิต และรวมไม่น้อยกว่า 100 หน่วยกิตภายในเวลา 5 ปี ในรูปแบบต่างๆ เช่น การอ่านบทความวิชาการและการเข้าร่วมประชุมวิชาการ เป็นต้น
ในฐานะที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสถาบันหลักเพื่อผลิตกิจกรรมให้หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อกำหนดโดยสภาเภสัชกรรมว่าจะต้องทำการจัดกิจกรรมให้หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง คือการประชุมวิชาการและการผลิตบทความรวมกิจกรรมละอย่างน้อย 10 หน่วยกิต เพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นสถาบันหลักในการผลิตกิจกรรมให้หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง และเป็นการให้บริการวิชาการต่อสังคมซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักที่คณะเภสัชศาสตร์มุ่งเน้นมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยร่วมระหว่างเภสัชกรแหล่งฝึกโรงพยาบาลสำหรับนิสิตปริญญาโทกับคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังนั้นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเภสัชกรรมคลินิก (มหาบัณฑิต) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น
วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านวิชาการและการวิจัยวิจัยร่วมระหว่างคณะเภสัชศาสตร์และแหล่งฝึกโรงพยาบาลสำหรับนิสิตปริญญาโท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในด้านการบริการวิชาการในนามสถาบันหลักในการจัดกิจกรรมเพื่อผลิตหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
3) เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์และนิสิตบัณฑิตศึกษาในการประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ชนิดการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานในการดูแลผู้ป่วยและการทำวิจัย
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อที่งานบัณฑิตศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-754360 (รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 25 คน)